Translate

วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

NYS Logistics เปิดเส้นทางใหม่ เพิ่มบริการขนส่งทางรถไฟ ปี55 พร้อมเป็น MTO เต็มรูปแบบ

เอ็นวายเอส โลจิสติกส์ ผู้ให้บริการเรือชายฝั่งระบุปี 53 โตต่อเนื่อง เปิดเส้นทางใหม่ท่าเรือแหลมฉบัง-แม่กลอง เตรียมเปิดตัวขนส่งสินค้าทางรถไฟ คาดภายในปลายปีนี้พร้อมเปิดเส้นทางบางซื่อ-ชุมพร-ท่าเรือระนอง เผยเป้าหมายปี 55 ขึ้นแท่นเป็นผู้ให้บริการขนส่งต่อเนื่องอย่างเต็มรูปแบบ



จากผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือชายฝั่งมากว่า 3 ปี จนแบรนด์ติดหูผู้ใช้บริการในปัจจุบัน ในปี 2553 นี้ นับว่าบริษัท เอ็นวายเอส โลจิสติกส์ จำกัด ประสบความสำเร็จไปอีกขั้น ทั้งปริมาณการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น โดยมีอัตราการเติบโตกว่า 15% ขณะเดียวกันได้ขยายเส้นทางใหม่ท่าเรือแหลมฉบัง-แม่กลอง /แม่กลอง-ท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงจับมือกับผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟเปิด Line Product ใหม่ เตรียมให้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟเชื่อมโยงกับเรือชายฝั่งในเส้นทางบางซื่อ-ชุมพร-ท่าเรือระนอง และอยู่ระหว่างประสานงานในเส้นทางหาดใหญ่-ท่าเรือแหลมฉบัง
ทั้งนี้ การรุกดำเนินงานต่างๆ ล้วนเป็นการมุ่งสู่เป้าหมายของบริษัทฯ ที่ต้องการเป็นผู้ให้บริการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport Operator: MTO) เชื่อมระบบขนส่งทั้งทางเรือชายฝั่ง รถบรรทุก และรถไฟอย่างเต็มรูปแบบในปี 2555 นั่นเอง
เกี่ยวกับการเติบโต ความสำเร็จตลอดปี 2553 รวมถึงการให้บริการในเส้นทางใหม่ๆ คุณสมชาย ตันติจินดา ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เอ็นวายเอส โลจิสติกส์ จำกัด กล่าวว่า การดำเนินงานถือว่าประสบความสำเร็จอยู่ในระดับที่ดี ได้รับการตอบรับจากผู้ใช้บริการ และมีการเติบโตประมาณ 15%
สำหรับการให้บริการในเส้นทางใหม่ๆ นั้น ปัจจุบันได้ให้บริการเพิ่มเติมในเส้นทางท่าเรือแหลมฉบัง-แม่กลอง/แม่กลอง-ท่าเรือแหลมฉบัง อาทิตย์ละ 2-3 เที่ยว เพิ่มเติมจากเส้นทางเดิมที่มีและเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว คือเส้นทางท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือกรุงเทพ/ท่าเรือกรุงเทพ-ท่าเรือแหลมฉบัง
นอกจากนี้ คุณสมชายเปิดเผยว่า อยู่ระหว่างประสานงานเพื่อผลักดันให้เกิดการให้บริการในเส้นทางมาบตาพุด-ท่าเรือ
แหลมฉบัง/ท่าเรือแหลมฉบัง-มาบตาพุด สำหรับความคืบหน้าอยู่ระหว่างประสานเกี่ยวกับการจัดการเรื่องเส้นทาง เวลาของเรือ ค่าใช้จ่าย ตู้คอนเทนเนอร์ในการรับส่งสินค้า ฯลฯ คาดว่าภายในปีนี้น่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น




เตรียมให้บริการขนส่งทางรถไฟบางซื่อ-ชุมพร-ท่าเรือระนอง


นอกจากการให้บริการเรือชายฝั่งในเส้นทางต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคกลางแล้ว ล่าสุดบริษัทฯ ได้จับมือกับผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟ และรถบรรทุกเพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างภาคใต้และภาคกลางของประเทศ โดยอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในเส้นทางบางซื่อ-ชุมพร-ท่าเรือระนอง ซึ่งปัจจุบันมีความพร้อมแล้วประมาณ 70% คาดว่าสามารถให้บริการได้ภายในปี 2553 นี้
นอกจากนี้อยู่ระหว่างประสานงานในเส้นทางหาดใหญ่-ท่าเรือแหลมฉบัง ปัจจุบันความต้องการใช้บริการมีอยู่แล้ว แต่อยู่ระหว่างการพูดคุยเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะผู้ใช้บริการในพื้นที่ดังกล่าวมีทางเลือกในการส่งสินค้าไปทางพอร์ทกรัง มาเลเซียอยู่แล้ว เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายพบว่า ยังสูงกว่าออกไปทางมาเลเซีย แต่หากขอความร่วมมือกับสายเรือจากท่าเรือแหลมฉบังในราคาที่พอสู้ได้ เชื่อว่าลูกค้าจะเลือกใช้บริการอย่างแน่นอน
เกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าว คุณสมชาย กล่าวว่า “สิ่งที่เรากำลังทำคือจับมือทั้งกับรถไฟ และรถบรรทุก ซึ่งแต่ละโหมดการขนส่งมีจุดด้อยจุดแข็งที่ต่างกัน เราดึงให้มาทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ พยายามให้ความมั่นใจกับลูกค้าว่า เรามีวิธีนำสินค้าไปให้ได้ ถ้ารถไฟไม่พอจะถูกสลับมาที่รถบรรทุก หรือเรือชายฝั่ง ภายใต้ค่าใช้จ่ายในกรอบเดียวกัน”
“อุปสรรคในการขนส่งสินค้าทางรถไฟจากภาคใต้มาที่ภาคกลาง คือ เกิดต้นทุนที่เป็นดับเบิ้ลแฮนลิ่ง เช่น เส้นทางหาดใหญ่-ท่าเรือกรุงเทพ ทั้งที่สินค้าควรจะมุ่งตรงมาที่ท่าเรือกรุงเทพเลย เพราะท่าเรือกรุงเทพสามารถขนส่งทางรถไฟได้อยู่แล้ว แต่ปัจจุบันยังใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นสินค้าจึงต้องไปที่บางซื่อก่อน จึงทำให้เกิดต้นทุนที่ซ้ำซ้อน” คุณสมชาย กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับรูปแบบการขนส่งสินค้าในเส้นทางบางซื่อ-ชุมพร-ท่าเรือระนอง คือขนส่งสินค้าทางรถไฟจากสถานีรถไฟบางซื่อไปยังสถานีรถไฟชุมพร จากชุมพรบริษัทฯ ร่วมมือกับผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางรถบรรทุกขนส่งต่อไปยังท่าเรือระนอง ปัจจุบันมีความพร้อมแล้ว 70% เหลือเพียงประสานงานเรื่องตารางเรือ คาดว่าพร้อมเปิดให้บริการภายในปีนี้
ประโยชน์ที่ผู้ใช้บริการจะได้รับคือ มีทางเลือกในการส่งสินค้ามากขึ้น มีความแน่นอน สินค้าสามารถส่งทันเวลา ลดระยะเวลาในการเดินทาง แม้ค่าใช้จ่ายยังไม่ถูกกว่าหรืออาจสูงกว่าเล็กน้อย
ทั้งนี้ ยกตัวอย่างสินค้าที่ส่งผ่านท่าเรือระนองไปยังประเทศพม่า ปัจจุบันผู้ประกอบการประสบปัญหาสินค้าตกเรือที่สิงคโปร์ หรือพอร์ทกรัง ประเทศมาเลเซีย เพราะส่วนหนึ่งเนื่องจากเรือที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับสินค้าน้ำหนักเบาแต่มีมูลค่าสูงมากกว่า ขณะที่สินค้าจากไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าหนัก จึงทำให้สินค้าจากไทยไปพม่าใช้เวลาเกือบ 1 เดือน
แต่หากเป็นการขนส่งทางรถไฟจากบางซื่อไปยังชุมพรและทางถนนไปท่าเรือระนองใช้เวลาประมาณ 3 วัน และจากท่าเรือระนองไปยังพม่าอีก 1 วัน ทำให้ลดเวลาในการขนส่งได้มาก
นอกจากนี้ การขนส่งสินค้าทางรถไฟดังกล่าว ยังเป็นทางเลือกหนึ่งในการเชื่อมโยงสินค้าสู่ท่าเรือในภาคใต้ เช่น ท่าเรือสงขลา 2 และท่าเรือปากบารา ที่มีแนวคิดระดับประเทศผลักดันให้เกิด แต่หลายฝ่ายยังมุ่งประเด็นว่า ต้องมีนิคมอุตสาหกรรมใกล้ท่าเรือเพื่อป้อนสินค้า ซึ่งมุมมองส่วนตัวคุณสมชายเห็นว่า อย่าห่วงเรื่องที่ตั้งของสินค้า แต่ต้องให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงสินค้าไปยังท่าเรือมากกว่า เพราะความเป็นจริงสินค้าควรอยู่แหล่งที่ได้เปรียบทั้งด้านวัตถุดิบ และต้นทุนนั่นเอง 


ปี 55 เป็นผู้ให้บริการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ


ถามถึงก้าวต่อไป และแผนงานในปี 2554-2555 คุณสมชายเปิดเผยว่า จากปี 2553 ที่บริษัทฯ มุ่งปรับปรุงการให้บริการ และเพิ่มบริการใหม่ๆ อาทิ การเปิดเส้นทางใหม่ และร่วมมือกับผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟเปิดเป็นบริการใหม่ ซึ่งในปี 2553 บริษัทฯ ได้เริ่มเข้าถึงลูกค้าโดยตรง คือ กลุ่มผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก จากเดิมที่กลุ่มลูกค้าเป็นสายเรือเป็นส่วนใหญ่
ส่วนแผนงานขั้นต่อไปในปี 2554 จะเป็นการเริ่มหาลูกค้าโดยตรง เพื่อหากลุ่มสินค้าในประเทศ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลัก
ของบริษัทฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีขนาดเล็ก รายกลาง รายย่อย เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด ขาดอำนาจการต่อรองเมื่อเทียบกับผู้ใช้บริการรายใหญ่
ส่วนปี 2555 ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะสามารถขึ้นแท่นเป็นผู้ให้บริการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport Operation) อย่างเต็มตัว สามารถเชื่อมโยงระบบขนส่งในประเทศทั้งทางเรือชายฝั่ง ทางถนน และทางรถไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังมีแผนงานทำศูนย์กระจายสินค้าในประเทศ เพื่อเป็นจุดรวบรวมสินค้าต่างๆ ในเส้นทางที่สำคัญ เป็นจุดเชื่อมโยงในการขนส่งสินค้า ทำให้รถขนส่งวิ่งในระยะสั้น ลดทั้งเวลา และต้นทุนโลจิสติกส์โดยรวม ซึ่งบริษัทฯ มีความพร้อมอยู่แล้ว คือมีคลังสินค้า และความพร้อมในการซัพพลายตู้แล้ว จึงเป็นแนวคิดที่จะดำเนินการต่อเนื่องต่อไป
การเดินหน้าพัฒนาบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องของเอ็นวายเอส โลจิสติกส์ เป็นที่น่าจับตามอง ซึ่งหากรูปแบบการให้บริการเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการขนส่งสินค้าในประเทศได้ดีเลยทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น